ประวัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ประวัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์
ซึ่งสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ มีชื่อเดิมว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” และมีพระบรมราชโองการเปลี่ยนนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เมื่อ วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์สืบไป ดังปรากฏในประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆิกเสนาศน์ราชวิทยาลัยต่อไปนี้
*พระราชปรารถในการก่อพระฦกษ์สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย
*พระพิมลธรรม พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) สนองพระราชปรารถ
*ยุคริเริ่มการจัดการศึกษา
*ยุคปรับปรุงและขยายการศึกษา
*ยุครับรองปริญญาบัตรและสถานะของมหาวิทยาลัย
(พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5)
พระราชปรารถในการก่อพระฦกษ์สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย
ศุภมัสดุพระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค ล่วงแล้ว ๒๔๓๙ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม จุลศักราช ๑๒๕๘ วานระ สังวัจฉระ ภัทรบทมาศ ชุษณปักษ สับตมีดิถี รวิวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๕ กันยายนมาศ เตรสมะมาสาหะคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตร วรขัตติย ราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศอุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรกรีบรมนารถ มหามกุฎราชวรางกูร สุจริตมูล สุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์บูรพาดูลย์กฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนต บาทบงกชยุคล ประสิทธิ สรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิฐศักดิ์สมญา พินิตประชานารถ เปรมกระมลขัตติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณคุณสาร สยามาทินครวรุฒ เมกราชดิลก มหาปริวารนายก อนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินทร อเนกชนนิกร สโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดม บรมราชสมบัติ นพปดลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหา บรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชโรดม บรมนารถ- ชาติอาชาไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสิตลหฤไทย อโนปไมยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริห์ว่า
จำเดิมแต่ได้เสด็จเถลิง ถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเศกแล้วมาได้ทรงทนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองเจริญขึ้นโดยลำดับ แต่พระสัทธรรมในพระบรมพุทธสาสนานี้ ย่อมมีเหตุปัจจัยอาศรัยกันแลกัน เมื่อพระปริยัติสัทธรรมเจริญแพร่หลายอยู่ พระปฏิบัติสัทธรรม- จึ่งจะเจริญไพบูลได้ เมื่อพระปฏิบัติสัทธรรมไพบูลอยู่ พระปฏิเวทสัทธรรมจึงจะสมบูรณ์ได้ พระปริยัติสัทธรรมย่อมเป็นรากเหง้าเค้ามูลแห่งพระสาสนา ๆ จะดำรงอยู่แลเจริญขึ้นก็ด้วยพระปริยัติสัทธรรม การที่จะบำรุงพระปริยัติสัทธรรม อันเป็นรากเหง้าของพระพุทธสาสนาให้ไพศาลบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็ย่อมอาศรัยการบำรุงให้มีผู้เล่าเรียน แลที่เล่าเรียนให้สะดวกยิ่งขึ้น
การเล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรม ที่เป็นไปอยู่ในเวลานั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำรุงทั่วไปทุกพระอาราม แต่ยังหาเป็นอันนับว่าบริบูรณ์แท้ไม่ เพราะเป็นแต่สถานที่เล่าเรียนในชั้นต้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวิทยาลัยที่จะเล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูงขึ้น ๒ สถาน ๆ หนึ่งเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกาย ให้ตั้งที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร พระอารามหลวง พระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกสถานหนึ่ง เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่าย มหานิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงนี้ มีนามว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” ได้เปิดการเล่าเรียน แต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ ศก ๑๐๘ สืบมา แต่สังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัยนี้ ยังไม่เป็นที่สมควรแก่การเล่าเรียนในสมัยที่การเรียนเจริญขึ้นสืบมานี้
จึ่งทรงพระราชดำริห์ที่จะทรงสร้างสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัยนี้ขึ้นใหม่ให้เป็นสถานอันสมควรแก่การเล่าเรียน การนี้ยังอยู่ในระหว่างพระบรมราชดำริห์ ยังหาทันตลอดไม่พอประจวบ เวลาที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีพระราชประสูติกาล ณ วันพฤหัสบดี เดือนเจ็ดแรมสิบสองค่ำ ปีขาน สัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๒๔๐ ตรงกับ วันที่ ๒๗ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๙๗ เสด็จสวรรคต ล่วงไปในวันที่ ๔ มกราคม รัตนโกสินทร์ ๑๑๓ ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น เก้าค่ำ ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๒๕๖
จึงทรงพระราชดำริห์ว่า โดยราชประเพณีที่มีมาแต่ก่อน เมื่อพระบรมวงศ์ที่ได้ดำรงพระเกียรติยศชั้นสูงสวรรคต ก็ได้เคย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ ตามพระเกียรติยศ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเชิญพระศพไปประดิษฐาน พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุมาศนั้น ก็การทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่เช่นเคยมานั้น เป็นการเปลืองพระราชทรัพย์ ไปในสิ่งซึ่งมิไดถาวร แลมิได้เป็นประโยชน์สืบเนื่องไปนาน เป็นการลำบากแก่คนเป็นอันมาก แลได้ประโยชน์ชั่วสมัยหนึ่ง แล้วก็อันตรธานไป
ครั้งนี้มีสมัยที่จะต้องทำการพระเมรุมาศขนาดใหญ่นั้นขึ้น ควรจะน้อมการทำพระเมรุมาศนั้นมารวมลงในการพระราชกุศล ส่วนสาสนูปถัมภนกิจวิทยาทาน วิหารทานการก่อสร้างสังฆิกเสนาสน์ สำหรับมหาธาตุวิทยาลัยนี้ ให้พระราชกุศลบุญราศีส่วนทักษิณาทาน เนื่องในภารถาวรวัตถสถาน เป็นที่ตั้งแห่งสาสนธรรมสัมมาปฏิบัติแห่งพุทธบริษัท สัปปุริสชนสำเร็จประโยชน์ อิฐวิบูลผลสืบเนื่องไปตลอดกาลนานแล จะได้เป็นเหตุให้งดเว้นการทำพระเมรุมาศขนาดใหญ่ อันเป็นเครื่องเปลืองประโยชน์เปล่าดังพรรณนามาแล้วนั้น
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงษ์ เป็นผู้บัญชาการให้เจ้าพนักงาน ทำการก่อสร้าง วิทยาลัยยอดปรางค์ ๓ ยอด ล้วนแล้วด้วยถาวรภัณฑ์ อันมีกำหนดส่วนยาวแต่ทิศเหนือมาทิศใต้ ๘๘ วา ส่วนกว้างในทิศเหนือ แลทิศใต้นั้น ส่วนละ ๘ วา ๓ ศอก ส่วนกลางตั้งแต่ทิศตะวันตก มาทิศตะวันออก ๒๕ วา ส่วนกว้างในมุขใหญ่ ๑๑ วา ส่วนสูงในร่วมมุขยอดใหญ่นั้น ๒๒ วา ในร่วมยอดน้อยทั้ง ๒ แห่งละ ๑๖ วา ด้วยพระราชทรัพย์ ๕,๔๐๐ ชั่งเพื่อได้เป็นที่เชิญพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศล ทักษิณาทานมีการมหกรรมแล้ว จะได้เชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศขนาดน้อย ณ ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิง
เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนนี้เสร็จ แล้วจะได้ทรงพระราชอุทิศถวายถาวรวัตถุนี้ เป็นสังฆิกเสนาสน์ สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเปนที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมแลวิชาชั้นสูงสืบไปภายหน้า พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย” เพื่อให้ เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไป
พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงษ์ ได้ทรงบัญชาการให้เจ้าพนักงานจับการก่อสร้างจำเดิมแต่การรื้อขนปราบแผ้ว ส่วนที่ควรทำนั้น มาแต่วันที่ ๒๔ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ บัดนี้ การทำรากสังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัยนี้ แล้วเสร็จควรจะวางศิลาฤกษ์ได้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุคำประกาศแสดงพระพระราชดำริห์อันนี้ แลแผนที่รูปถ่ายตัวอย่างสังฆิกเสนาสน์นั้น กับหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา อันเป็นหนังสือพิมพ์ราชการในสมัยนี้ เลือกคัดแต่ฉบับที่สมควร แลเหรียญที่รฤกในการพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งทองเงิน แลเบี้ยทองแดงซึ่งใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ลงในหีบศิลาพระฤกษ์แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ในที่นี้ ณ เวลาเย็นวันที่ ๑๒ กันยายน รัตนโกสินทร์ ๑๑๕ รุ่งขึ้นเวลาเช้าวันที่ ๑๓ กันยายน พระสงฆ์ได้รับพระราชทานฉัน เวลาบ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยโดยเสด็จพระราชดำเนินมา ณ ที่ประชุมนี้ ครั้นถึงกำหนดศุภมหามงคลฤกษ ทรงวางศิลาพระฤกษ และอิฐปิดทอง ปิดเงิน ปิดนาค ซึ่งเปน อิฐฤกษลง ณ ที่อันจะได้ก่อสังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัยเปนประถม โดยนิยมแห่งโบราณราชประเพณีแล้ว นายช่างจะได้ทำการต่อไปให้สำเร็จโดยพระบรมราชประสงค์ ขอผลแห่งพระบรมราชประสงค์ซึ่งจะทรงบำรุงพระพุทธศาสนาให้สถิตย์สถาพร และจะให้วิทยาการแพร่หลาย อันเป็นทางมาแห่ง ประโยชน์ความศุขของมหาชนทั่วไปนี้ จงสำเร็จ โดยพระบรมราชประสงค์ จงทุกประการ เทอญ. (คัดมาจากราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓ แผ่นที่ ๒๕ วันที่ ๒๐ กันยายน ร.ศ. ๑๑๕ หน้า ๒๖๕ – ๒๖๘)
พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร)
พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) สนองพระราชปรารถ
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ รูปที่ ๑๕ มีความประสงค์จะปรับปรุงการศึกษา ภายในสถาบันการศึกษาที่เป็นอยู่ในขณะนั้นให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงมอบหมายให้ พระมหาบุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ ป.ธ.๘ (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมมหาวีรานุวัตร) อาจารย์แห่งมหาธาตุวิทยาลัย และบรรณารักษ์ห้องสมุดมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งกำลังปรับปรุงกิจการห้องสมุดของมหาธาตุวิทยาลัย ได้ช่วยรวบรวมความเป็นมาด้านการจัดการศึกษาของมหาธาตุวิทยาลัยทั้งปวง เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานทางเอกสารของมหาธาตุวิทยาลัยสืบไป
เมื่อพระมหาบุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ ได้ไปติดต่อกับนายธนิต อยู่โพธิ์ หัวหน้าแผนกวรรณคดี ได้ให้ความอนุเคราะห์ด้วยดี และได้ขอความร่วมมือจากนายยิ้ม ปัณฑยางกูร หัวหน้ากองจดหมายเหตุ กรมศิลปากร ช่วยอำนวยความสะดวกอีกต่อหนึ่ง และได้พบเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เอกสารที่พบนี้ คือ ลายพระหัตถ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีไปถึงหม่อมเจ้าประภากร ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ร.ศ. ๑๑๕ ดังจะขออัญเชิญ สำเนาลายพระราชหัตถ์ มาแสดงดังต่อไปนี้
เมื่อพระมหาบุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ ได้พบลายพระหัตถ์นี้แล้ว ได้นำสำเนาลายพระหัตถ์ไปถวายพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) ซึ่ง พระพิมลธรรมได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับพระเถรานุเถระในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และต่างวัด โดยทุกรูปเห็นพ้องต้องกันว่า สมควร ที่จะได้จัดการศึกษาของพระสงฆ์ให้เป็นไปตามพระราชปณิธานที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชทานไว้* (*ความนี้ปรากฏในส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต ชื่อเรื่อง “พัฒนาการของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย” ของ นายมนัส เกิดปรางค์, พ.ศ. ๒๕๒๗.) จนกระทั่งในที่สุดพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) จึงได้มีหนังสือนิมนต์พระเถระทั้งจากวัดมหาธาตุ และวัดอื่นๆ จำนวน ๕๗ รูป และฆราวาสอีกจำนวนหนึ่งมาประชุมกัน ณ หอปริยัติ วัดมหาธาตุฯ ในวันจันทร์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๙ เวลา ๑๗.๐๐ น. โดยถือเป็นการประชุมที่ด่วนมาก และลับเฉพาะ จะสังเกตเห็นได้ชัดก็คือหนังสือนัดประชุม ออกเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม เพื่อนิมนต์เข้าประชุมวันที่ ๒๓ ธันวาคม เป็นการออกหนังสือเชิญล่วงหน้าเพียงหนึ่งวันเท่านั้น ดังปรากฏ ตัวอย่าง หนังสือเชิญประชุม ดังนี้ ผู้ที่ได้รับอาราธนาหรือเชิญเข้าประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยทั้งฝ่ายบรรพชิต ๗ รูป และฆราวาส ๔ คน ซึ่งทุกท่านจะได้รับ เอกสารบันทึกโครงการปรับปรุงมหาธาตุวิทยาลัย หรือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดทำโดย หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการให้ถือว่าบันทึกนี้เป็นความลับ และอ่านได้เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญมาประชุมเท่านั้น
ยุคริเริ่มการจัดการศึกษา
เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีความสามารถในการรักษา และเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น พระพิมลธรรม ( ช้อย ฐานทัตตมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในสมัยนั้นจึงจัดประชุมพระเถรานุเถระฝ่ายมหานิกาย จำนวน ๕๗ รูป เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และประกาศให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินการจัดการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงในระดับมหาวิทยาลัย เปิดสอนระดับปริญญาตรี คณะพุทธศาสตร์เป็นคณะแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และมีพัฒนาการตามลำดับ ดังนี้
• พ.ศ. ๒๕๐๐ ปรับเปลี่ยนระบบการวัดผลมาเป็นระบบหน่วยกิต โดยกำหนดให้นิสิตต้องศึกษา อย่างน้อย ๑๒๖ หน่วยกิต และปฏิบัติศาสนกิจ ๑ ปีก่อนรับปริญญาบัตร
• พ.ศ. ๒๕๐๕ เปิดสอนคณะครุศาสตร์
• พ.ศ. ๒๕๐๖ เปิดสอนหลักสูตรแผนกอบรมครูศาสนศึกษา ระดับประกาศนียบัตรและเปิดสอน คณะเอเซียอาคเณย์และเปลี่ยนเป็นคณะมานุษยสงเคราะห์ศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖
• พ.ศ. ๒๕๑๒ ปรับหลักสูตรแผนกอบรมครูศาสนศึกษาเป็นวิทยาลัยครูศาสนศึกษา และปรับเปลี่ยนหน่วยกิตเป็น ๒๐๐ หน่วยกิตการจัดการเรียนการสอนช่วง ๒ ทศวรรษแรก ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์และรัฐเท่าที่ควร ทำให้ประสบปัญหาด้านสถานะของมหาวิทยาลัย และงบประมาณเป็นอย่างมาก แต่ก็สามารถจัดการศึกษามาได้อย่างต่อเนื่อง
ยุคปรับปรุงและขยายการศึกษา
• พ.ศ. ๒๕๑๒ คณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม ได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ” การศึกษาของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๒ ” และ เรื่อง ” การศึกษาของสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๒ ” คำสั่งทั้ง ๒ ฉบับนี้ ส่งผลให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มี สถานะเป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย โดยสมบูรณ์
• พ.ศ. ๒๕๒๑ เริ่มขยายการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค เริ่มตั้งวิทยาเขตแห่งแรกที่ จังหวัดหนองคาย และได้ขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ อาคารสถานที่ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตในกำกับดูแล ทั่วประเทศ ๑๐ แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ ๔ แห่ง และ ศูนย์การศึกษา ๑ แห่ง คือ
o วิทยาเขตหนองคาย ตั้งอยู่ที่วัดศรีษะเกษ อ. เมือง จ. หนองคาย จัดตั้งเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๑
o วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่วัดแจ้ง อ. เมือง จ. นครศรีธรรมราช จัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
o วิทยาเขตเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่วัดสวนดอก อ. เมือง จ. เชียงใหม่ จัดตั้งเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
o วิทยาเขตขอนแก่น ตั้งอยู่ที่วัดธาตุเมืองเก่า อ. เมือง จ. ขอนแก่น จัดตั้งเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
o วิทยาเขตนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่บ้านหัวถนน ถนนชาติพัฒนา ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
รหัสไปรษณีย์ ๓๐๐๐๐ โทรศัพท์ (๐๔๔) ๒๕๔๘๙๑, โทรสาร ๒๖๔๕๖๐ จัดตั้งเมื่อวัน ที่ ๓๐ ตุลาคม
พ.ศ. ๒๕๒๙
o วิทยาเขตอุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่วัดมหาวนาราม อ. เมือง จ. อุบลราชธานี จัดตั้ง เมื่อ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
o วิทยาเขตแพร่ ตั้งอยู่ที่วัดพระบาทมิ่งเมือง อ. เมือง จ. แพร่ จัดตั้งเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
o วิทยาเขตสุรินทร์ ตั้งอยู่ที่วัดศาลาลอย อ. เมือง จ. สุรินทร์ จัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
o วิทยาเขตพะเยา ตั้งอยู่ที่วัดศรีโคมคำ อ. เมือง จ. พะเยา จัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคมพ.ศ. ๒๕๓๔
o วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส ตั้งอยู่ที่วัดมหาสวัสดิ์นาคพุฒาราม อ. พุทธมณฑล จ. นครปฐม จัดตั้งเมื่อวันที่ ๑
กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕
• พ.ศ. ๒๕๒๖ มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรีใหม่ โดยลดจำนวนหน่วยกิตจาก ๒๐๐ หน่วยกิต ให้เหลือเพียง ๑๕๐ หน่วยกิต และปรับปรุงระบบการบริหารวิชาการใหม่ โดยแบ่งออก เป็น ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และ คณะสังคมศาสตร์
พระพรหมวชิราธิบดี (พีร์ สุชาโต)
อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร
นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ยุครับรองปริญญาบัตรและสถานะของมหาวิทยาลัย
• พ.ศ. ๒๕๒๗ รัฐบาล โดยการนำของ ฯพณฯ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้ดำเนินการ เสนอร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา โดยรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา มีผลทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญา เช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับเดียวกันจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่รัฐให้การรับรอง
• พ.ศ. ๒๕๓๔ มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาที่วัดศรีสุดาราม เขตบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ศึกษาของนิสิตปีที่ ๑ – ๔ ของคณะครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์
• พ.ศ. ๒๕๓๕ คณะกรรมการการศึกษาของสงฆ์ ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานได้ออกระเบียบคณะกรรมการการศึกษาของสงฆ์ ว่าด้วยการจัดการศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมหาวิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาและการบริหารให้เป็นไปตามระบบสากล (คณะเอเซียอาคเณย์และเปลี่ยนเป็นคณะมานุษยสงเคราะห์ศาสตร์เมื่อพ.ศ.๒๕๑๖)
• พ.ศ. ๒๕๔๐ แม้มหาวิทยาลัยจะมี พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะของผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการรับรองสถานะภาพ ความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัยเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป จึงทำให้ไม่สามารถขยายการจัดการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ตามวัตถุประสงค์และนโยบายของมหาวิทยาลัยได้
ดังนั้น จึงมีความพยายามในการผลักดันให้มีการดำเนินการตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นการเฉพาะ โดยใช้เวลาในการดำเนินการเป็นเวลานานถึง ๕๐ ปี จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐบาล โดยการนำของ ฯพณฯ พล.อ ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เสนอให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคมพ.ศ. ๒๕๔๐ ส่งผลให้มหาวิทยาลัย มีพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐบาล และเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เน้นจัดการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร.(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
กรรมการมหาเถรสมาคม
ประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
อุปนายกสภา และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ยุคเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ(๒๕๔๑-๒๕๕๘)
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองสถานะให้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการพัฒนา ทั้งในเชิงกายภาพ (Hardware) และเชิงคุณภาพ (Software) อีกทั้งเตรียมคนเพื่อรองรับการพัฒนามหาวิทยาลัยเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
• การเตรียมพื้นที่รองรับการเป็นศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ นายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสรได้ถวายที่ดินจำนวน ๘๔ ไร่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา ที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแก่มหาวิทยาลัย รวมกับที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดซื้อเพิ่มเติม ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด ๓๒๓ ไร่ หลังจากนั้น ในวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทูลเกล้าถวายโฉนดที่ดินทั้ง ๒ แปลง เพื่อพระราชทานแก่มหาวิทยาลัย
ต่อมา ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทรงวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานอธิการบดี
จนกระทั่ง ในวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยได้ย้ายที่ทำการจากวัดมหาธาตุและ วัดศรีสุดาราม กรุงเทพมหานคร มายังที่ทำการแห่งใหม่ ณ กิโลเมตรที่ ๕๕ ถนนพหลโยธิน ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในที่สุด วันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดป้ายหอประชุม มวก ๔๘ พรรษา และเปิดป้ายมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ
• การขยายสถาบันสมทบไปสู่นานาชาติ
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๔ ขยายการศึกษาไปสู่ต่างประเทศ โดยรับวิทยาลัยพุทธศาสนาดองกุก ชอนบอบ ประเทศเกาหลีใต้เข้าเป็นสถาบันสมทบเป็นแห่งแรก ปัจจุบันมีสถาบันทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ จำนวน ๗ แห่ง ในปี ๒๕๔๗ รับมหาปัญญาวิทยาลัย อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา และมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาจิ้ง เจวี๋ย เมืองเกาสง ไชนิสไทเป เป็นสถาบันสมทบ หลังจากนั้น ในปี ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยได้รับวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ประเทศศรีลังกา และวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงคโปร์ เป็นสถาบันสมทบ ต่อมาในปี ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยได้รับมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ธรรมะเกต ปูดาเปสท์ ประเทศฮังการี เป็นสถาบันสมทบ การดำเนินการเปิดรับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจาก ๖ ประเทศเข้าเป็นสถาบันสมทบนั้น นับเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับขององค์กรทางการศึกษาในระดับนานาชาติ จนทำให้องค์กรต่างๆ มุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยในการนำระดับการจัดการศึกษา และหลักสูตรของมหาวิทยาลัยไปเปิดสอนกลุ่มบุคคลที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้ศึกษาและเรียนรู้พระพุทธศาสนาในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
• การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับภารกิจการเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ
0 การจัดตั้งวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ
การขยายตัวของมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้จำกัดวงอยู่ในพื้นที่ของภาษาไทยเท่านั้น ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับจากชาวพุทธทั่วโลก จึงเป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปิดหลักสูตรนานาชาติ เพื่อรองรับกลุ่มบุคคลที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์จากทั่วโลกมาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยได้อนุมัติโครงการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเพื่อเป็นที่ศึกษาของบรรพชิตและและคฤหัสถ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยดำเนินการจัดซื้อที่ดิน จำนวน ๗๗ ไร่ ๒ งาน ๕๓ ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ติดกับที่ดินของมหาวิทยาลัยด้านทิศตะวันออก ต่อมามหาวิทยาลัยได้ร่างแผนแม่บทการก่อสร้างวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนรวมวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ จำนวน ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ซื้อวัสดุครุภัณฑ์ประกอบอาคารต่างๆ ซื้อที่ดินเพิ่มเติม ปรับปรุงพื้นที่ ก่อสร้างลานจอดรถ ก่อสร้างป้ายมหาวิทยาลัย งานปรับภูมิทัศน์ต่างๆ โดยรวมงบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น ๒,๑๓๔,๕๙๑,๒๐๖ บาท
0 จัดตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ
ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) อนุมัติให้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ โดยมีมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยพระพุทธศาสนาทั่วโลกเข้าเป็นสมาชิกจำนวน ๑๑๗ สถาบัน สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งนั้น เพื่อสนับสนุนมวลสมาชิก สร้างกรอบการทำงานร่วมกัน รวมไปถึงสร้างความเข้าใจและร่วมมือการทำงานร่วมกันระหว่างมวลสมาชิก ในการการเรียนการสอน การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ได้มีการประชุมอธิการบดีและการสัมมนาวิชาการ ระดับนานาชาติ ครั้งที่ ๑ ของสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานาชาติ ระหว่าง วันที่ ๑๓-๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานาชาติ จัดประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา และสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับจริยศาสตร์” ณ อุโบสถกลางน้ำ และอาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีอธิการบดี นักวิชาการทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า ๑,๗๐๐ รูป/คน
0 การจัดสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก
ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยร่วมกันองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วโลกได้ร่วมกันลงนามจัดตั้งสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกขึ้น เพื่อกระตุ้นให้องค์กรพระพุทธศาสนาได้ร่วมกันเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกในฐานะวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกสาร และความสามัคคีของกลุ่มชาวพุทธทั่วโลก โดยให้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) มีมติตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (International Council for the Day of Vesak) ให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ นับเป็นครั้งแรกที่วงการพระพุทธศาสนาไทย ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของยูเอ็น พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันส่งเสริมให้ยื่นเสนอขอรับรองเป็นองค์ที่ปรึกษาพิเศษดังกล่าว และได้มีกิจกรรมส่งเสริมงานของยูเอ็นอย่างต่อเนื่อง โดยการประสานความร่วมมือกับชาวพุทธทั่วโลก เพื่อจัดประชุมวิสาขบูชาโลกแล้ว บูรณาการกับพันธกิจของการจัดตั้ง ๔ ด้าน คือ (๑) การพัฒนาที่ยั่งยืน (๒) สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (โดยเฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อน) (๓) การศึกษา และ (๔) การสร้างสันติภาพ
สมาคมสภาสากลวิสาขบูชาโลกนี้ นับเป็นสะพานที่จะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงชาวพุทธทั่วโลก ทั้งนิกายมหายาน วัชรยาน และเถรวาท ให้สามารถศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจซึ่งกันและกัน อันส่งผลในเชิงบวกต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในระดับท้องถิ่น (Local) และในระดับโลก (Global) ให้สอดรับกับวิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
0 การจัดตั้งสถาบันภาษา
พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดีได้ให้นโยบายต่อการพัฒนาสถาบันภาษาเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนานานาชาติว่า “ภารกิจของมหาวิทยาลัย และกิจกรรมมีสำคัญที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมา นอกเหนือจากกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเฉพาะกาประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพหลักในการประชุม กระทั้งชาวพุทธทั่วโลกมีมติให้พุทธมณฑล เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก ผลของการจัดกิจกรรมนี้ ทำให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยขาดแคลนบุคลกรที่มีความรู้ ความสามารถในด้านภาษา ดังนั้น มหาวิทยาลัย จึงได้ตั้งสถาบันภาษาขึ้นเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลกของไทย ต่างๆให้ความสนใจส่งบุคคลกรเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยมาขึ้น” จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว ในปี ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยจึงได้เริ่มต้นในการจัดตั้งโครงการสอนภาษาอังกฤษขึ้น เพื่อสนองตอบต่อการพัฒนาภาษาอังกฤษเพื่อเสริมสร้างการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนแก่นิสิตต่างประเทศที่เลือกเรียนในระดับปริญญาตรีภาคภาษาอังกฤษ หลังจากนั้น ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ จึงมีการจัดตั้งสถาบันภาษาขึ้นอย่างเป็นทางการโดยให้มีสถานะเทียบเท่าคณะ ทั้งนี้ ขณะนี้ สถาบันภาษาได้ดำเนินการรองรับวิสัยทัศน์ของอธิการบดี ทั้งในมิติของการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรการแปลภาษา และภาษาอังกฤษเพื่อวิชาชีพ รวมไปถึงการเปิดสอนภาษาต่างๆ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาบาฮาซา ภาษาเวียดนาม ภาษาพม่า ภาษาไทย และภาษาบาลี สถาบันภาษาได้จัดการเรียนการสอนทั้งในระดับประกาศนียบัตร และการสอนภาษาอังกฤษในรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เป็นภาษาอังกฤษที่ไม่นับหน่วยกิตของคณะต่างๆ และการบริการด้านภาษาให้แก่หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้บริหารคณาจารย์และเจ้าหน้าที่เพื่อให้สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศรวมไปถึงการให้บริการแก่นิสิตต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ได้ให้บริการแก่หน่วยงานภายนอกทั่วไปที่ประสงค์พัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน โดยให้สถาบันภาษาไปดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้แก่บุคลากรของหน่วยงานต่างๆ
0 การจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา
การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นศูนย์กลาง (HUB) ของการศึกษาพระพุทธศาสนาในประชาคมอาเซียนนั้น ถือเป็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา ให้มีสถานะเทียบเท่ากับคณะ (ศูนย์อาเซียนศึกษา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และวิทยาลัยพระธรรมทูต) เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยให้ศูนย์อาเซียนศึกษา มีภารกิจเกี่ยวกับการบริหารงาน การวางแผนงาน การพัฒนาเครือข่าย การศึกษาวิจัย การจัดระบบสารสนเทศ และการให้บริการวิชาการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริการงานอาเซียน คอยประสานความร่วมมือกับส่วนงานของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่น ๆ ในประชาคมอาเซียน แบ่งการบริหารงานออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนงานบริหาร และ ส่วนวิจัย สารสนเทศและบริการวิชาการ
0 การจัดตั้งวิทยาลัยพระธรรมทูต
วิทยาลัยพระธรรมทูตมีพัฒนาการมาจากโครงการฝึกอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) กรรมการมหาเถรสมาคม ได้เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรม โดยมีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกันในการดำเนินงานคือ (๑) เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความรู้ความสามารถ จริยาวัตรอันงดงาม และความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศยิ่งขึ้น (๒) เพื่อเตรียมพระธรรมทูต ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมส่งไปต่างประเทศ (๓) เพื่อสนองงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของคณะสงฆ์ไทย ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖ จึงได้จัดตั้งวิทยาลัยพระธรรมทูตขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยมีภารกิจเกี่ยวกับงานการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาพระธรรมทูต จัดการฝึกอบรมพระธรรมทูต วิจัยพัฒนารูปแบบและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มี ๒ ส่วนงานทำหน้าที่ในการบริหารและพัฒนาวิทยาลัย กล่าวคือ (๑) สำนักงานวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานบริหาร และงานสารสนเทศของวิทยาลัย และ (๒) สำนักงานวิชาการ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ เกี่ยวกับงานวางแผนและพัฒนาหลักสูตร งานวิจัยและพัฒนา
0 การประชุมในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางการศึกษาที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวพุทธทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางศาสนาต่างๆ นักวิชาการพระพุทธศาสนาและกลุ่มคนทั่วไปได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมนานาชาติที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นตามลำดับดังต่อไปนี้
การประชุมเพื่อเสริมสร้างสันติภาพโลก
• การจัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งที่ ๒ ในระหว่างวันที่ ๙ – ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับคณะสงฆ์นิกายเนนบุตซูชุ ประเทศญี่ปุ่น จัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แห่งโลก ครั้งที่ ๒ ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม การประชุมครั้งนี้เน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวพุทธทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเผยแผ่ศาสนา และเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส มหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชมมายุครบ ๗๒ พรรษา
• การประชุมสภาผู้นำศาสนาแห่งโลก ระหว่าง วันที่ ๑๒ – ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ จัดประชาสภาผู้นำศาสนาโลก ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ การประชุมครั้งนี้ มุ่งสงเสริมเรื่องความร่วมมือทางศาสนาในการแก้ปัญหาความรุนแรงและสร้าง สันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก
• การประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนโลกเพื่อสันติภาพ ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ จัดประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนโลกเพื่อสันติภาพ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติกรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้เน้นการสนับสนุนให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนความคิดความเห็น เรื่องสันติภาพและเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชน ให้ทำกิจกรรมส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน
• การประชุมเถรวาทและมหายาน ระหว่าง วันที่ ๑๖ – ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดประชุมนานาชาติว่าด้วยพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้เน้นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทางพระ พุทธศาสนา ในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ แสวงหาหนทางทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นที่สนใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่
• การสัมมนาร่วมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามในประเด็นความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ศาสนาระหว่างอีหร่านกับไทย ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ทั้งนี้ มีนักวิชาการทั้งสองศาสนาเข้าร่วมกว่า ๙๕๐ รูป/คน
• การประชุมการประชุมผู้นำศาสนาเพื่อสันติภาพในประชาคมอาเซียน ครั้งที่ ๑ เรื่อง ขันติธรรมทางศาสนา ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ โดยมีผู้นำศาสนา ๕ ศาสนาจาก ๑๐ ประเทศในประชาคมอาเซียน ๘๐ คน รวมถึงคนไทยร่วมงานประมาณ ๕๐๐ คน ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ภายใต้การดำเนินการของโครงการปริญญาโทหลักสูตรสันติศึกษา มจร. โดยเริ่มอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ ที่ มจร.วังน้อย โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานการประชุมครั้งนี้ผู้นำทั้ง ๕ ศาสนาเห็นชอบในปฏิญญาที่ตกลงร่วมกัน ดังนี้ คือ ๑.ส่งเสริมขันติทางศาสนาตามประกาศของยูเนสโก ปี ค.ศ.๑๙๙๕ ๒.จะดำเนินการเสวนาต่อไปและเสริมสร้างเครือข่ายของผู้นำศาสนา ส่งเสริมกันและกัน ๓.เพื่อให้ประชาคมอาเซียนมีความรู้ในศาสนาของตนเองและศาสนา อื่นๆ ๔.เพื่อดำเนินแบบต่อเนื่องไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อสันติภาพ เข้าใจถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ๕.จะกระทำให้เกิดความคุ้นเคยระหว่างกันเพื่อความเป็นเอกภาพของผู้นำศาสนา และ ๖.เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี ไม่ให้ศาสนาตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและสื่อมวลชน
พระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง
รักษาการรองแม่กองบาลีสนามหลวง
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
การประชุมเพื่อเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก
• การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑
เมื่อ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับมหาเถรสมาคม และรัฐบาลไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำชาวพุทธโลกว่าด้วยวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้เน้นส่งเสริมการศึกษา การปฏิบัติ การเผยแผ่ และปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งร่วมกันจัดการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาทั้งที่ศูนย์ประชุมใหญ่และศูนย์ ประจำภูมิภาค
• การประชุมวิสาขบูชาโลกครั้งที่ ๒
ระหว่าง วันที่ ๑๘ – ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดประชุมชาวพุทธนานาชาติว่าด้วยวันวิสาขบูชา ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
การปะชุมครั้งนี้ เน้นส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลก เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างองค์กรทางพระพุทธศาสนาและส่งเสริมแลกเปลี่ยนแหล่ง ข้อมูลทางพระพุทธศาสนา
• การประชุมวิสาขบูชาโลกครั้งที่ ๓
ระหว่าง วันที่ ๗ – ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดประชุมชาวพุทธนานาชาติว่าด้วยวันวิสาขบูชา ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้เน้นเรื่องสันติภาพโลก ความร่วมมือระหว่างพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ การพัฒนาแบบยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
• การประชุมวิสาขบูชาโลกครั้งที่ ๔
ระหว่าง วันที่ ๒๖ – ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับมหาเถรสมาคม และรัฐบาลไทย จัดประชุมชาวพุทธนานาชาติว่าด้วยวันวิสาขบูชา วันสำคัญของสหประชาชาติ ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
การประชุมปีนี้มีผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๒,๐๐๐ คน การประชุมปีนี้ เน้นเรื่องพระพุทธศาสนากับธรรมาภิบาล และเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา
• การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๕
ระหว่าง วันที่ ๑๘ – ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับมหาเถรสมาคม และรัฐบาลไทย จัดพิธีฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ การประชุมนี้มีผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมจำนวน ๑,๕๐๐ คน
• การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๖
การจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก เรื่อง “พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤติการณ์ของโลก” วันที่ ๔- ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
• การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๗
การจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลกเรื่อง “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ ”Global Recovery: The Buddhist Perspective เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี ๒๕๕๓ วันที่ ๒๓ – ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
• การประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๘
การจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก เรื่อง “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” วันที่ ๑๒-๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ณ หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร การประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน
• การประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๙
การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๙ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี : ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”เรื่อง“พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อ ประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ” วันที่ ๓๑ พฤษภาคม – ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม การประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน
• การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑๐
การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๐ เรื่อง “การศึกษากับการเป็นพลเมืองของโลก: มุมมองของพระพุทธศาสนา” ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในการประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน
• การประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑๑
การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๑ ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในการประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๑,๕๐๐ คน
• การจัดประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑๒
การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๒ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับวิกฤติการณ์ของโลก” ระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในการประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน